Cart
0
0.00 THB
  • Home

  • Blogs

  • การจัดเก็บสารเคมีให้ถูกต้องและปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

การจัดเก็บสารเคมีให้ถูกต้องและปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

  • Home

  • Blogs

  • การจัดเก็บสารเคมีให้ถูกต้องและปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

การจัดเก็บสารเคมีให้ถูกต้องและปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ

   


     สารเคมีที่ใช้ในห้องปฏิบัติการนั้นมีอยู่มากมาย ตามการใช้งานและการปฏิบัติงาน ดังนั้น การจัดการสารเคมีจึงจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาที่อาจส่งผลกระทบทั้งทางสุขภาพ กายภาพและความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน ผู้ใช้งานหรือผู้ที่เกี่ยวข้องควรศึกษาคู่มือความปลอดภัยในห้องปฏิบัติการ เพื่อให้สามารถเข้าใจหรือแก้ไขสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย





     การจัดเก็บสารเคมี คือ กระบวนการที่ต้องนำสารเคมีที่มีความเป็นอันตรายในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ไวไฟ เป็นพิษ ว่องไวในการเกิดปฏิกิริยา เป็นต้น มาจัดเก็บไว้ในพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่มีความเหมาะสมภายใต้กรอบระยะเวลา (สารเคมีส่วนใหญ่มักจะถูกจัดเก็บยาวนานเป็นปี) เพราะการจัดเก็บสารเคมีที่ดีถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ในการช่วยส่งเสริมให้การทำงานในห้องปฏิบัติการเกี่ยวกับสารเคมีให้เกิดความปลอดภัย 



     การจัดเก็บสารเคมีอย่างไม่ถูกต้อง เช่น การจัดเก็บสารเคมีโดยจัดเรียงตามลำดับตัวอักษร การจัดเก็บสารเคมีโดยแยกตามสถานะที่ไม่มีเกณฑ์ที่เชื่อถือใด ๆ ในการอ้างอิง การจัดเก็บสารเคมีในสภาพแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัย เป็นต้น ซึ่งที่กล่าวมานี้ล้วนแล้วมีแต่ความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ เช่น การเกิดไฟไหม้ การระเบิด สารเคมีรั่วไหล เป็นต้น ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งแบบทางตรงและทางอ้อม เช่น การบาดเจ็บ การสูญเสียเวลา การสูญเสียทรัพย์สิน การเสียชีวิต รวมทั้งภาพลักษณ์ขององค์กรได้





     ในห้องปฏิบัติแต่ละที่จะมีสารเคมีที่แตกต่างกันออกไปตามการใช้งาน ซึ่งมักจะมีความแตกต่างกับส่วนงานอื่น ๆ ขององค์กร เช่น ฝ่ายผลิต คลังเก็บสารเคมี โดยในห้องปฏิบัติการจะมีชนิดของสารเคมีที่ครอบครองซึ่งมีความหลากหลาย จะมีปริมาณในแต่ละชนิดที่มาก-น้อย การจัดเก็บสารเคมีตามความเข้ากันได้ของสารเคมีจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้สามารถควบคุมความเป็นอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


     ในการจำแนกประเภทสารเคมีและวัตถุอันตรายสำหรับการเก็บรักษานั้น จะพิจารณาจากคุณสมบัติความเป็นอันตรายหลักของสารเป็นอันดับแรกก่อน ได้แก่ คุณสมบัติการติดไฟ การระเบิด และการออกซิไดซ์ จากนั้นจะพิจารณาคุณสมบัติรองของสารได้แก่ ความเป็นพิษ ความกัดกร่อน ส่วนความเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไม่นำมาพิจารณาในการจำแนกประเภทสำหรับการเก็บรักษา ประเภทสารเคมีและวัตถุอันตรายสำหรับการเก็บรักษา





การแยกจัดเก็บสารเคมี (segregation) สารแต่ละประเภทมีวิธีการเก็บอย่างปลอดภัยตามคุณสมบัติของสารประเภทนั้น ๆ โดยจะแบ่งได้ 5 ประเภท
    • สารไวไฟ (flammable chemicals)
    • สารระเบิดได้ (explosive chemicals)
    • สารเป็นพิษ (toxic chemicals)
    • สารกัดกร่อน (corrosive chemicals)
    • สารที่เข้าไม่ได้ (incompatible chemicals)




สารไวไฟ (Flammable Materials)

ปกติการลุกไหม้เกิดขึ้นระหว่างออกซิเจนและเชื้อเพลิงในรูปที่เป็นไอหรือละอองเล็กๆ ดังนั้น สารที่ระเหยได้ง่ายมีความดันไอสูงจะติดไฟได้ง่ายละอองหรือฝุ่นของสารเคมีที่ไวไฟก็สามารถลุกติดไฟได้ง่ายพอๆกับสารที่เป็นก๊าซหรือไอสารที่ลุกติดไฟได้ง่ายในสภาพอุณหภูมิและความดันปกติ จะถือว่าเป็นสารไวไฟตัวอย่างของสารเหล่านี้ ได้แก่ ผงละเอียดของโลหะ ไฮโดรของโบรอน ฟอสฟอรัส ของเหลวที่มีจุดวาบไฟต่ำกว่า 30 องศา และก๊าซไวไฟต่างๆ
วิธีการเก็บสารเคมี
    • เก็บในที่เย็นอากาศถ่ายเทได้และอยู่ห่างจากแหล่งจุดติดไฟ แหล่งกำเนิดไฟ เช่น ความร้อน ประกายไฟหรือเปลวไฟ
    • เก็บไว้ในภาชนะที่ปลอดภัย หรือตู้เก็บสารไวไฟซึ่งตรวจสอบดูแล้วว่าปลอดภัย ภาชนะที่เก็บต้องมีฝาปิดแน่นไม่ให้อากาศเข้าได้
    • เก็บแยกจากสารพวก Oxidizers สารที่ลุกติดไฟเองได้ สารที่ระเบิดได้และสารที่ทำปฏิกิริยากับอากาศหรือความชื้นและให้ความร้อนออกมาเป็นจำนวนมาก
    • มีป้ายห้ามสูบบุหรี่ หรือห้ามจุดไม้ขีดไฟ
    • พื้นที่นั้นควรต่อสายไฟลงในดินเพื่อลดไฟฟ้าสถิตย์ที่อาจเกิดขึ้นได้
    • สารไวไฟต้องเก็บให้พ้นจากแสงอาทิตย์
    • ในห้องปฏิบัติการต้องมีการกำหนดบริเวณการจัดเก็บสารไวไฟไว้โดยเฉพาะ และไม่นำสารอื่นมาเก็บไว้ในบริเวณที่เก็บสารไวไฟ
    • ต้องไม่เก็บสารไวไฟไว้ในภาชนะที่ใหญ่เกินจำเป็น เช่น ในภาชนะขนาดใหญ่เกิน 20 ลิตร (Carboy)
    • ห้ามเก็บสารไวไฟหรือสารที่ไหม้ไฟได้ในห้องปฏิบัติการไว้มากกว่า 50 ลิตร
    • ในกรณีที่ภายในห้องปฏิบัติการจำเป็นต้องเก็บสารไวไฟหรือสารที่ไหม้ไฟได้ไว้มากกว่า 50 ลิตร ต้องเก็บไว้ในตู้เฉพาะที่ใช้สำหรับเก็บสารไวไฟ หากต้องเก็บในที่เย็น ตู้เย็นที่ใช้เก็บต้องมีระบบป้องกันการเกิดประกายไฟหรือปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้เกิดการติดไฟหรือระเบิดได้ (Explosion–Proof Refrigerator)
    • ห้ามเก็บสารไวไฟในตู้เย็นสำหรับใช้ในบ้าน เนื่องจากภายในตู้เย็นที่ใช้ในบ้านไม่มีระบบป้องกันการติดไฟ และยังมีวัสดุหลายอย่างที่เป็นสาเหตุให้เกิดการติดไฟได้ เช่น หลอดไฟภายในตู้เย็น เป็นต้น



สารระเบิดได้ (Explosives)

สารระเบิดได้ (Explosive) คือ สารซึ่งที่อุณหภูมิหนึ่ง จะเกิดการ decompose อย่างรวดเร็วเมื่อเกิดการสั่นสะเทือนหรือเกิดปฏิกิริยารุนแรง จะให้ก๊าซออกมาจำนวนมากรวมทั้งความร้อนด้วย ซึ่งทำให้อากาศรอบๆ ตัวเกิดการขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นผลให้เกิดการระเบิดขึ้นได้สิ่งที่มีผลต่อสารที่ระเบิดได้คือความร้อนหรือเย็นจัดๆ อากาศแห้ง หรือขึ้นในการเก็บ ความไม่ระมัดระวังในการ handle ระยะเวลาในการเก็บ ระยะเวลาที่เอาออกมาจากภาชนะเริ่มแรกก่อนใช้

วิธีการเก็บสารเคมี
      • เก็บห่างจากอาคารอื่นๆ
      • มีการล็อคอย่างแน่นหนา
      • ไม่ควรเก็บในที่มีเชื้อเพลิง หรือสารที่ติดไฟได้ง่าย
      • ต้องห่างเปลวไฟอย่างน้อย 20 ฟุต
      • ไม่ควรมีชนวนระเบิด (Detonators), เครื่องมือและสารอื่นๆอยู่ด้วย
      • ไม่ควรซ้อนกันเกิน 6 ฟุต
      • ต้องเคลื่อนย้ายด้วยความระมัดระวัง
      • ห้ามไม่ให้ผู้อื่นเข้าไปในที่เก็บสารได้



    สารเป็นพิษ (Toxic Chemicals)
    สารเป็นพิษ (Toxic Chemicals) คือสารซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะใดๆซึ่งทั้งนี้จะรวมถึงสารกัมมันตรังสี (Radioactive) ภาชนะต้องปิดฝาสนิท อากาศเข้าไม่ได้

    วิธีการเก็บสารเคมี
      • ห่างจากแหล่งจุดติดไฟ
      • ต้องมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ ทั้งภาชนะที่เก็บและบริเวณที่เก็บสารนั้นๆ
      • สารที่ไวต่อแสง ต้องเก็บไว้ในขวดสีชา ในสถานที่เย็น แห้งและมืด



    สารกัดกร่อน (Corrosive Materials)
    สารกัดกร่อนจะรวมถึง กรด Acid Anhydride และ ด่างสารพวกนี้มักจะทำลายภาชนะที่บรรจุและออกมายังบรรยากาศภายนอกได้บางตัวระเหยได้บางตัวทำปฏิกิริยารุนแรงกับความชื้น

    วิธีการเก็บสารเคมี
      • เก็บในที่เย็น แต่ต้องสูงกว่าจุดเยือกแข็ง
      • ต้องใช้ถุงมือ สวมแว่นตา ฯลฯ เมื่อใช้สารพวกนี้
      • ต้องเก็บกรดแยกห่างจากโลหะที่ไวในการทำปฏิกิริยา เช่น Sodium, Potassium และ Magnesium เป็นต้น
      • ด่างต้องแยกเก็บจากกรดและสารอื่นๆ ที่ไวต่อการทำปฏิกิริยา
      • ห้ามเก็บขวดสารกัดกร่อน (ทั้งกรดและเบส) ขนาดใหญ่ (ปริมาณมากกว่า 1 ลิตร หรือ 5 กิโลกรัม) ไว้ในระดับที่สูงเกิน 60 เซนติเมตร (2 ฟุต)
      • ห้ามเก็บขวดสารกัดกร่อน (ทั้งกรดและเบส) ทุกชนิดเหนือกว่าระดับสายตา
      • ขวดกรดต้องเก็บไว้ในตู้ไม้หรือตู้สำหรับเก็บกรดโดยเฉพาะที่ทำจากวัสดุป้องกันการกัดกร่อน เช่น พลาสติก หรือวัสดุอื่นๆ ที่เคลือบด้วยอีพ๊อกซี่ (Epoxy Enamel) และมีภาชนะรองรับ เช่น ถาดพลาสติก หรือมีวัสดุห่อหุ้มป้องกันการรั่วไหล
      • การเก็บขวดกรดขนาดเล็ก (ปริมาณไม่เกิน 1 ลิตร หรือ 5 กิโลกรัม) บนชั้นวาง ต้องมีภาชนะรองรับ เช่น ถาดพลาสติก หรือมีวัสดุห่อหุ้มป้องกันการรั่วไหล



    สารที่เข้ากันไม่ได้ (Incompatible Materials)
    สารที่เข้ากันไม่ได้ คือ สารที่เมื่อมาใกล้กันจะทำปฏิกิริยากันอย่างรุนแรงเกิดการระเบิด เกิดความร้อนหรือให้ก๊าซพิษออกมาได้สารพวกนี้จะต้องเก็บแยกต่างหากห่างจากกันมากที่สุด เช่น การเก็บสารที่ไวต่อน้ำ ต้องเก็บในที่อากาศเย็นและแห้ง ห่างไกลจากน้ำ
      • เตรียมเครื่องดับเพลิง class D ไว้ในกรณีเกิดไฟไหม้oxidizers
      • เก็บห่างจากเชื้อเพลิง และวัสดุติดไฟได้
      • เก็บห่างจาก Reducing Agents เช่น Zinc, Alkaline Metal หรือ Formic Acid





    ข้อกำหนดในการจัดเก็บสารเคมี

    สารเคมีแต่ละประเภทจะมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จึงต้องมีการกำหนดข้อกำหนดในการจัดเก็บสารเคมีในห้องปฏิบัติการให้ปลอดภัยสูงสุด 
      • มีการกำหนดพื้นที่ในห้องปฏิบัติการไว้เป็นสัดส่วนต่างหาก เพื่อแยกเก็บสารที่ไวต่อปฏิกิริยาต่าง ๆ (เช่น พอลิเมอไรเซชัน สารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสน้ำ สาร pyrophoric หรือ สารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ และสารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อเกิดการเสียดสีหรือกระทบกระแทก เป็นต้น) โดยหลีกเลี่ยงสภาวะที่ทำให้สารเกิดปฏิกิริยา เช่น น้ำ แสง ความร้อน วงจรไฟฟ้า ฯลฯ ตัวอย่างเช่น สารที่ไวต่อปฏิกิริยาเมื่อสัมผัสน้ำต้องเก็บให้ห่างจากอ่างน้ำ ฝักบัวฉุกเฉิน เป็นต้น
      • ตู้เก็บสารไวต่อปฏิกิริยาต่างๆ ต้องมีการติดคำเตือนชัดเจน เช่น “สารไวต่อปฏิกิริยา–ห้ามใช้น้ำ” เป็นต้น
      • เก็บสารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ห่างจากความร้อน แสง และแหล่งกำเนิดประกายไฟ
      • ภาชนะบรรจุสารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ต้องมีฝาหรือจุกปิดที่แน่นหนา เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศ
      • ห้ามเก็บสารที่ก่อให้เกิดเปอร์ออกไซด์ในภาชนะที่มีฝาเกลียวหรือฝาแก้ว เนื่องจากแรงเสียดทานขณะเปิดอาจทำให้เกิดการระเบิดได้ อาจใช้เป็นขวดพลาสติกที่เป็นฝาเกลียวแทน
     

    สามารถติดต่อพวกเราได้ที่
    Tel : 064 296 6593
    Line : https://lin.ee/M7mVBAf
    Shopee : https://shopee.co.th/eos_scientific
    e-Mail :eosscientificsshop.e@gmail.com


    ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง

    https://www.tosh.or.th/index.php/blog/item/878-2021-03-12-04-23-24

    https://web.rmutp.ac.th/woravith/?page_id=5539

    http://www.chemtrack.org/storage.asp

    http://www.jctsci.com/article/5/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B8%9A%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%B5%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%96%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87

    Post Date :
    2023-03-10
     3062
    Visitor
    Create a website for free Online Stores