Cart
0
0.00 THB
  • Home

  • Blogs

  • กินอะไร? ถึงช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม

กินอะไร? ถึงช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม

  • Home

  • Blogs

  • กินอะไร? ถึงช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม

กินอะไร? ถึงช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อม



โรคจอประสาทตาเสื่อม เรื่องนี้อาจฟังดูเป็นเรื่องที่ดูเหมือนจะไกลตัว แต่ความจริงแล้วมันใกล้ตัวมากๆ เพราะดวงตาของเราต้องใช้งานอยู่ทุกวันตลอดเวลา ดังนั้น เราจึงต้องหาวิธีดูแลถนอมสายตาให้ดวงตาของเรามีอายุยืนนานๆ แต่ก่อนที่เราจะไปเข้าเรื่องกัน แอดมินขอพาทุกคนไปรู้จักกับ “โรคจอประสาทตาเสื่อม” กัน มาเข้าใจว่าโรคนี้มีความผิดปกติยังไง สาเหตุมาจากอะไร และเราควรทานอะไรเพื่อบำรุงดวงตาของเรากันค่ะ
โรคจอประสาทตาเสื่อม คืออะไร

โรคจอประสาทตาเสื่อม (Age-related macular degeneration (AMD)) เป็นโรคซึ่งเกิดที่บริเวณ แมคูลา ลูเตีย (macula lutea) หรือจุดที่อยู่ตรงกลางของจอตา (Retina) ซึ่งมีเซลล์ประสาทรับรู้แสงและสี (Cones) จำนวนมาก จึงทำให้เราสามารถมองเห็นภาพได้อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะในโรคนี้จะมีการทำลายแมคูลาไปทีละน้อย มีความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณจุดกลางรับภาพของจอประสาทตา เป็นหนึ่งสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นเฉพาะตรงกลางภาพ โดยภาพด้านข้างจะยังเห็นอยู่

โรคจอประสาทตาเสื่อมจะไม่ทำให้การมองเห็นมืดสนิทไปทั้งหมด และยังสามารถพอที่จะช่วยเหลือดูแลตัวเองได้บ้าง โดยจะพบในกลุ่มคนอายุตั้งแต่ 50  ปีขึ้นไป แต่สำหรับในบางคนแล้ว การลุกลามของโรคอาจจะเป็นไปอย่างรวดเร็วเกินอายุ อาจมีผลทำให้ตาบอดข้างเดียวหรือทั้งสองข้างได้เช่นกัน


ขอบคุณรูปจาก http://med.swu.ac.th/msmc/optic/index.php/component/content/article/77-latest-news/152-2019-07-08-06-45-55


โรคจอประสาทตาเสื่อมมีกี่ประเภท

โรคจอประสาทตาเสื่อมแบ่งตามความรุนแรงออกได้เป็น 2 ประเภท

1. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบแห้ง/แบบเสื่อมช้า (early (or dry) AMD)
เป็นรูปแบบที่พบได้มากที่สุดประมาณร้อยละ 90 ของผู้ป่วยโรคนี้ เกิดจากการสลายตัวของเซลล์ที่ไวต่อแสงบริเวณศูนย์กลางจอประสาทตา (Macula) โดยเซลล์จอประสาทตาจะค่อยๆ เสื่อมไปอย่างช้าๆ การมองเห็นจะลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นชนิดที่พบได้มากที่สุด  

2. โรคจอประสาทตาเสื่อมแบบเปียก/แบบเร็ว (late (or wet) AMD)
โรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 10-15 ของผู้ป่วยโรคนี้ เกิดจากการสูญเสียการมองเห็นเป็นไปอย่างรวดเร็ว และเป็นสาเหตุสำคัญของตาบอดได้ โดยเกิดจากมีหลอดเลือดผิดปกติงอกอยู่ใต้จอประสาทตา ซึ่งหลอดเลือดเหล่านี้จะเปราะและแตกง่าย มีการรั่วซึมของเลือด และสารเหลวจากหลอดเลือด ทำให้เกิดแผลเป็น และจอประสาทตาบวม


ผู้ป่วยเริ่มมองเห็นภาพตรงกลางบิดเบี้ยวคล้ายคลื่น อาจจะมี “จุดบอด” ซึ่งเป็นผลมาจากการที่มีการสูญเสียการมองเห็นภาพในบริเวณตรงกลางของภาพ และเกิดการสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็วเฉียบพลัน ดังนั้นผู้ป่วยที่มีการมองเห็นอย่างเฉียบพลันควรพบจักษุแพทย์ทันที

ปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม มีอะไรบ้าง



  • อายุ : พบโรคนี้ได้บ่อยขึ้นในคนที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป
  • พันธุกรรม : มีความสัมพันธ์ทางพันธุกรรมของคนที่เป็นโรคกับญาติสายตรง ผู้เกี่ยวข้องควรได้รับการตรวจเช็คจอประสาทตาทุกๆ 2 ปี
  • เชื้อชาติ/ เพศ : พบอุบัติการของโรคมากที่สุดในคนผิวขาว (Caucasian) และเพศหญิงมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย
  • บุหรี่ : มีหลักฐานทางการศึกษาพบว่า การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอย่างชัดเจน จะมีโอกาสเกิดโรคนี้เร็วกว่าผู้ไม่สูบถึง 10 ปี โดยเฉพาะผู้สูบบุหรี่ที่มีประวัติครอบครัวร่วมด้วยจะมีโอกาสเพิ่มถึง 30 เท่า
  • ความดันเลือดสูง : ผู้ป่วยที่ต้องทานยาลดความดันเลือด และมีระดับของไขมัน Cholesterol ในเลือดสูง และระดับ Carotenoid ในเลือดต่ำ มีความเสี่ยงสูงมากต่อการเป็นโรคจอประสาทตาเสื่อมแบบสูญเสียการมองเห็นอย่างรวดเร็ว (Wet AMD)
  • วัยหมดประจำเดือน : ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนที่ไม่ได้รับประทานยาฮอร์โมน Estrogen พบว่าอยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
  • โรคอ้วน : ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากอาจทำให้โรคจอประสาทตาเสื่อมเป็นมากขึ้น
  • สายตาสั้นมาก ๆ (Pathologic myopia) แต่บางข้อมูลก็ระบุว่า ผู้ที่มีสายตายาว (Hyperopia) จะมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้มากกว่าผู้ที่มีสายตาปกติหรือมีสายตาสั้น
  • ม่านตาสีอ่อน (Light iris coloration)
  • ตาได้รับแสงแดดอย่างเรื้อรัง และแสงสีฟ้า ซึ่งจะส่งผลเสียโดยตรงกับดวงตา เพราะเป็นแสงที่เรามองเห็นได้ จึงสามารถทะลุผ่านเลนส์ตาและกระจกตาเข้าไปถึงจอประสาทตาได้ หากได้รับเป็นเวลานานๆ
  • ขาดอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ และอาจขาดสารต้านอนุมูลอิสระบางชนิด โดยเฉพาะลูทีน (Lutein) และซีแซนทีน (Zeaxanthin)



แล้วเรากินอะไรบ้าง ถึงจะช่วยชะลอโรคจอประสาทตาเสื่อมได้

ร่างกายเราไม่สามารถสร้าง ลูทีน และ ซีแซนทีน ขึ้นมาเองได้ โดยสองสารนี้เป็นสารประกอบที่จัดอยู่ในกลุ่มของแคโรทีนอยด์ที่ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นวิตามินเอ และสารนี้ถูกพบอยู่ที่แมคูลาและที่เลนส์ของตา ซึ่งสองสารนี้จะถูกพบได้ในผลไม้และผักต่างๆ โดยแหล่งอาหารที่ให้ลูทีนที่ดีที่สุด คือ ผักใบเขียว ซึ่งผักใบเขียวที่ให้ปริมาณลูทีนมากที่สุดและเราคุ้นเคยกันในบ้านเรา คือ ผักคะน้า และ ผักปวยเล้งนั่นเอง นอกจากนี้ยังมีผักชนิดอื่นๆ และอาหารอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งสามารถดูได้ตามตารางนี้ได้เลยว่าผักชนิดไหนที่ให้ลูทีนและซีแซนทีนได้มากที่สุด






นอกจากผักใบเขียวข้างต้นแล้ว ยังมีสารวิตามินอื่นๆ ที่ช่วยบำรุงสายตาของเราให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วยนะ




วิตามินเอ (vitamin A)

เป็นสารที่ช่วยในการปกป้องกระจกตา มีบทบาทสำคัญในการช่วยการมองเห็นในที่มืด แหล่งอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ จะเป็นพวกผัก ผลไม้ สีเหลือง ส้ม เขียว ซึ่งผักและผลไม้พวกนี้จะมี สารแคโรทีนอยด์ (Carotenoid) ที่เป็นสารตั้งต้นในการสร้างวิตามินเอ เช่น ตำลึง ฟักทอง ข้าวโพด แครอท ผักโขม คะน้า พริกหยวก เป็นต้น ส่วนในผลไม้ จะพบใน มะละกอ แคนตาลูป มะม่วงสุก



วิตามินซี (vitamin C)

เป็นสารที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของเซลล์ และป้องกันการเกิดต้อต่างๆ แหล่งอาหารที่เป็นแหล่งของวิตามินซี ได้แก่ ผักและผลไม้ต่างๆ เช่น คะน้า ผักโขม กะหล่ำปลี บล็อคโคลีหน่อไม้ฝรั่ง พริกต่างๆ ผลไม้ที่พบวิตามินซีสูง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลส้ม ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ฝรั่ง กีวี่

ลูทีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในข้าวโพด ผักโขม อะโวคาโด

ไลโคปีน สารต้านอนุมูลอิสระที่พบในมะเขือเทศ ฟักข้าว

แอนโทไซยานิน มีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ พบในผักและผลไม้สีม่วง ได้แก่ ผลไม้ตระกูลเบอรี่ ทับทิม กะหล่ำปลีม่วง มะเขือม่วง



ปลา

ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ที่มีส่วนช่วยในการทำงานของสายตา ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งปลาทะเลน้ำลึกจำพวก ปลาแซลมอน ปลาทูน่า พวกนี้ยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ แอสตาแซนทีน ที่ช่วยป้องกันความเสื่อมของตาได้อีกด้วย



ไข่

ในไข่แดงอุดมไปด้วยลูทีน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่ง ที่ช่วยป้องกันการเสื่อมประสิทธิภาพของตา


ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิง
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/189/%E0%B8%8A%E0%B8%B0%E0%B8%A5%E0%B8%AD%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%A3/

https://ladpraohospital.com/th/content/4064/
https://www.paolohospital.com/th-TH/center/Article/Details/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%95%E0%B8%B2/%E0%B8%88%E0%B8%AD%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%AA%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%A1
https://thainakarin.co.th/%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9A%E0%B8%B3%E0%B8%A3%E0%B8%B8%E0%B8%87-%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%95%E0%B8%B2/
http://med.swu.ac.th/msmc/optic/index.php/component/content/article/77-latest-news/152-2019-07-08-06-45-55
Post Date :
2023-01-27
 837
Visitor
Create a website for free Online Stores