เครื่องแก้ววิทยาศาสตร์ในห้องปฏิบัติการ เป็นอุปกรณ์พื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการทำการทดลอง การวิจัย การทดสอบวิเคราะห์ เครื่องแก้วในห้องปฏิบัติการมีจำนวนมาก หลายประเภท
หลายขนาด และแต่ละประเภทมีลักษณะการใช้งานที่แตกต่างกันออกไป ผู้ใช้จึงจำเป็นต้องศึกษาเกี่ยวกับมาตรฐานเครื่องแก้ว วิธีการใช้อย่างถูกต้องเพื่อลดความคลาดเคลื่อน การทำ
ความสะอาด และการดูแลรักษา
การแบ่งประเภทของเครื่องแก้วในห้องปฏิบัติการตามวัตถุประสงค์ของการใช้งาน อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก ๆ คือ เครื่องแก้วที่ใช้งานทั่วไป (general glassware) และเครื่องแก้ว
วัดปริมาตรของเหลว (volumetric glassware)
ประเภทเครื่องแก้วในห้องปฏิบัติการ
1. เครื่องแก้วที่ใช้งานทั่วไป
เป็นอุปกรณ์ที่ใช้สำหรับบรรจุสารเคมี ถ่ายเทสารละลาย อุปกรณ์ประกอบการทดลอง เช่น การต้ม ละลาย ระเหย ตกตะกอน เป็นต้น และบางชนิดอาจใช้ในการวัดปริมาตรของเหลวที่
บรรจุโดยปริมาณ ซึ่งไม่อาจเป็นค่าที่มีความแม่นได้ อย่างไรก็ตาม แม้เราจะเรียกว่าเครื่องแก้ว แต่อุปกรณ์บางชนิด บางรุ่นอาจทำด้วยวัสดุอย่างอื่นที่เป็นพลาสติก HDPE หรือ PE ได้
- บีกเกอร์ (beaker)
- ขวดรูปชมพู่ (erlenmeyer flask)
- ขวดก้นกลม (boiling flasks, round bottom)
- ขวดก้นแบน (boiling flask, flat bottom)
- กรวยกรอง (funnel)
- แท่งแก้ว (stirring rod)
- กระจกนาฬิกา (glass watch)
- ขวดชั่งสาร (weighing bottle)
- หลอดหยด (dropper)
2. เครื่องแก้ววัดปริมาตรของเหลว
เครื่องแก้ววัดปริมาตรของเหลว (volumetric glassware) ใช้สำหรับวัดปริมาตรของเหลวที่ต้องการความแม่นสูง คุณลักษณะของเครื่องแก้ววัดปริมาตร จะประกอบด้วย
- มีขีดกำหนดปริมาตร (graduation marks) หรือ ข้อความกำหนดระบุปริมาตรที่วัดได้ที่แน่นอน- มีการกำหนดค่าความคลาดเคลื่อนสูงสุดในการวัดที่ยอมรับได้ (Tolerance limit)
เครื่องแก้ววัดปริมาตร เช่น
- กระบอกตวง (measuring cylinder)
- ขวดกำหนดปริมาตร (volumetric flask)
- ขวดวัดความถ่วงจำเพาะ (specific gravity bottle)
- บิวเรต (burette)
- ปิเปต (pipette)
- ปิเปตวัดปริมาตร (volumetric pipette หรือ transfer pipette)
- ไมโครปิเปต (micropipette)
- ปิเปตชนิดมีขีดย่อยแบ่งปริมาตร (measuring pipette หรือ graduated pipette) แบ่งย่อยได้อีก 2 ชนิด คือ
- ปิเปต ชนิด ปล่อยถึงขีดสุดท้าย (Mohr type)
- ปิเปต ชนิด ปล่อยหมด (Serological type)
กระบอกตวง (measuring cylinder)
เป็นอุปกรณ์รูปทรงกระบอกมีฐานสำหรับวางบนพื้นได้ปากมีจงอยเพื่อให้ถ่ายของเหลวได้สะดวกใช้ในการถ่ายของเหลวจากภาชนะหนึ่งไปยังอีกภาชนะหนึ่ง ในกรณีที่ไม่ต้องการความแม่นสูง
ขวดกำหนดปริมาตร (volumetric flask)
ลักษณะเป็นขวดที่มีฐานสามารถวางบนพื้น คอยาว มีขีดกำหนดปริมาตรบนคอขวด ใช้สำหรับเตรียมสารละลายที่ต้องการความเข้มข้นที่แน่นอน (ชนิด TC) หรือถ่ายของเหลวที่ต้องการปริมาตร
ที่แน่นอนจากภาชนะหนึ่งไปยังอีกภาชนะหนึ่ง (ชนิด TD)
บิวเรต (burette)
เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรของเหลวที่มีความแม่นสูง มีก๊อกหยุด (stopcock) สำหรับปิด-เปิด เพื่อควบคุมปริมาตรของเหลวให้ไหลออกทางปลายท่อตามต้องการ ใช้ในการไทเทรต (titration)
ปิเปตวัดปริมาตร (volumetric pipette หรือ transfer pipette)
เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรของเหลวมีลักษณะเป็นท่อยาว ส่วนกลางเป็นกระเปาะ ด้านล่างและบนกระเปาะมีขนาดเล็ก มีขีดกำหนดปริมาตรขีดเดียวอยู่ด้านบนเหนือกระเปาะสามารถบรรจุของเหลว
ได้ปริมาตรมาก ส่วนที่อ่านปริมาตรมีขนาดเล็ก ทำให้ความคลาดเคลื่อนจากการอ่านค่าปริมาตรต่ำใช้ในการถ่ายของเหสวจากภาชนะหนึ่งไปยังอีกภาชนะหนึ่ง ในกรณีที่ต้องการความแม่นสูง
ปิเปตชนิดมีขีดย่อยแบ่งปริมาตร (measuring pipette หรือ graduated pipette)
เป็นอุปกรณ์วัดปริมาตรของเหลวมีลักษณะเป็นท่อตรง ปลายท่อมีขนาดเล็ก มีขีดกำหนดปริมาตร แบ่งย่อยหลายขีด ใช้ในการถ่ายของเหลวจากภาชนะหนึ่งไปยังอีกภาชนะหนึ่ง
ขวดวัดความถ่วงจำเพาะ (specific gravity bottle)
ใช้สำหรับหาความถ่วงจำเพาะของเหลว หรือ ของแข็งที่อยู่ในรูปแบบผงหรือสามารถบดเป็นผงได้ ใช้ร่วมกับเครื่องชั่งน้ำหนักเพื่อคำนวณหาความถ่วงจำเพาะได้
Credit: https://web.rmutp.ac.th/woravith/?page_id=3852