ทุกวันนี้พลาสติกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราแล้ว มาในทั้งรูปแบบเครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้ในบ้าน ยานพาหนะ เครื่องนุ่งห่ม วัสดุทางการแพทย์ การก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์สำหรับอาหาร และยังมีอีกมากมายที่พลาสติกอยู่รอบตัวเรา แทบจะเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยแต่เราอาจไม่ทันสังเกต
แน่นอนว่าพลาสติกเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นมาเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกหลายอย่างให้แก่มนุษย์ แต่พลาสติกก็มีการย่อยสลายที่ยากและสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน แต่เราก็สามารถรีไซเคิลพลาสติกเหล่านั้นกลับมาใช้ใหม่ได้เช่นกัน
ในปี ค.ศ. 1988 NA Society of the Plastics Industry ได้กำหนด “รหัสชนิดพลาสติก” แสดงไว้บนผลิตภัณฑ์เพื่อช่วยในเรื่องการคัดแยกพลาสติกสำหรับการรีไซเคิล ซึ่งเราสามารถแบ่งตามชนิดของพลาสติกตามสัญลักษณ์ คือ ลูกศรวิ่งวนเป็นรูปสามเหลี่ยมด้านเท่า มีเลขกำกับอยู่ภายใน และมีตัวอักษรภาษาอังกฤษที่ฐานของสามเหลี่ยม โดยพลาสติกสามารถแบ่งได้ 7 ชนิด
สัญลักษณ์ เบอร์ 1 โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต (PET หรือ PETE)
พลาสติกประเภทนี้คือขวดพลาสติกโปร่งใส มองทะลุได้ เช่น ขวดน้ำเปล่า ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช ขวดโลชั่นแบบใส และขวดเครื่องปรุงอาหาร
สัญลักษณ์ เบอร์ 2: โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง (HDPE)
บรรจุภัณฑ์พลาสติกสีขาวและสีอื่นที่เป็นสีทึบ ขวดชนิดนี้จะเหนียวและทนทานกว่า PET เช่น ขวดนม ขวดแชมพู ขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า กระปุกยา
สัญลักษณ์ เบอร์ 3: โพลีไวนิล คลอไรด์ (PVC)
ขึ้นชื่อ PVC ที่เราคุ้นเคยก็คือท่อสีฟ้าหรือที่เรียกกันว่า ท่อพีวีซี ที่ใช้เป็นอุปกรณ์ก่อสร้าง พลาสติกชนิดนี้เป็นวัสดุที่เป็นแบบแข็งหรือมีลักษณะเป็นยาง นอกจากนี้ยังมีสิ่งของหลายชนิดที่มีพีวีซีเป็นส่วนประกอบ เช่น ของเล่นเด็ก ผ้าม่านห้องน้ำ แฟ้มใส่เอกสาร บัตร หลอดพลาสติกแบบแข็ง เป็นต้น พลาสติกชนิดนี้สารประกอบคลอรีนเป็นองค์ประกอบสามารถตกค้างเป็นมลพิษต่อสุขภาพเราและสิ่งแวดล้อมได้ และเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอีกด้วย
สัญลักษณ์เบอร์ 4: พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ หรือ LDPE
พลาสติกเบอร์ 4 นี้ เป็นฟิล์มพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้ เช่น ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว หลอดพลาสติก พลาสติกแรปห่ออาหาร
สัญลักษณ์เบอร์ 5:โพลีโพพีลีน (PP)
พลาสติกแข็ง ถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น ถ้วยโยเกิร์ต ถ้วยบะหมีกึ่งสำเร็จรูปแบบแข็ง
สัญลักษณ์เบอร์ 6: โพลีสไตรีน (PS)
เป็นพลาสติกมีลักษณะแข็งและมันวาว แต่เปราะบางและแตกง่าย เช่น ช้อนส้อมพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ ภาชนะโฟม ฝาแก้วกาแฟ
สัญลักษณ์เบอร์ 7 หรือมีคำว่า OTHER กำกับไว้
เป็นพลาสติกแข็งใช้ซ้ำได้ เช่น ขวดนมเด็ก ขวดน้ำดื่ม กล่องใส่อาหาร ข้อควรระวังสำหรับพลาสติกชนิดนี้แม้ว่าจะใช้ซ้ำได้ก็ตาม นั่นคือสาร Bisphenol A ที่เราเรียกย่อๆ กันว่า BPA สารชนิดนี้เมื่อปนเปื้อนเข้าสู่ร่างกายจะส่งผลเสียต่อเซลล์สมอง ระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อระบบสืบพันธุ์รวมไปถึงการหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโต